โคราชฝนมาเร็วสัปดาห์เดียว มีน้ำไหลเข้าเขื่อน กว่า 100 ล้าน ลบ.ม. ชลประทาน สั่งจับตาสถานการณ์น้ำรายวัน ห่วง ปชช.พื้นที่เชิงเขา -พื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกร

โคราชฝนมาเร็วสัปดาห์เดียว มีน้ำไหลเข้าเขื่อน กว่า 100 ล้าน ลบ.ม. ชลประทาน สั่งจับตาสถานการณ์น้ำรายวัน   ห่วง ปชช.พื้นที่เชิงเขา -พื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกร 
นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา  เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนรวมถึงการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ ซึ่งปริมาณฝนมาเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา ปกติจะมาช่วงเดือนตุลาคม แต่ปีนี้ฝนมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายน  ทำให้ต้องมีการติดตามสถานการณ์น้ำรวมถึงปริมาณน้ำฝนอย่างใกล้ชิดเร็วกว่าเดิม เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ทั้ง 4 แห่ง มีปริมาณกักเก็บ เกินกว่า ร้อยละ 60 ของความจุของ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน ของปี2563 ที่ผ่านมา มีเพียง ร้อยละ 23  ของความจุ สาเหตุที่จะต้องจับตาดูสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่  และขนาดกลาง ทั้ง 27 แห่ง ของจังหวัด  ยังมีปริมาณน้ำในอ่างกักเก็บ ไม่ถึงร้อยละ 50 ของความจุ แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งมีปริมาณน้ำเกิน ร้อยละ 63 ของความจุ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเพียงสัปดาห์เดียว มีปริมาณน้ำฝนไหลเข้าอ่าง ทั้ง 27 แห่ง รวมกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ของความจุรวมทั้งหมด  1,216 ล้าน ลบ.ม. 
นายกิติกุล  กล่าวอีกว่า  พื้นที่ลุ่มน้ำหลักของจังหวัดนครราชสีมา ไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำลำเชียงไกร  ลุ่มน้ำลำตะคอง และลุ่มน้ำลำพระเพลิง  ลุ่มน้ำแรกที่จะจับตาเป็นลุ่มน้ำลำเชียงไกร  พื้นที่ อ.เทพารักษ์ อ.ด่านขุนทด อ.โนนไทย และ อ.โนนสูง ที่มีปริมาณน้ำฝนตกมากกว่าทุกพื้นที่  ทำให้เกิดสภาวะดินอิ่มตัว  ประกอบกับมีปริมาณน้ำท่า ไหลลงลำน้ำต่างๆ อย่างรวดเร็ว เช่น ลำเชียงไกร ลำห้วยสามบาท ลำวังกะทะ คลองหลังราด และ คลองแค ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำและอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำจำเป็นต้องระบายน้ำบางส่วนลงท้ายอ่างเก็บน้ำ  จึงแจ้งขอให้ประชาชนในพื้นที่บริเวณราบลุ่มต่ำ และพื้นที่ติดลำน้ำลำเชียงไกร ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด  สำหรับการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำนั้นมีการวางแผนการระบายน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนท้ายอ่างอย่างแน่นอน  นอกจากประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆแล้ว  ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณเชิงเขา จำเป็นที่จะต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว และ อ.ปากช่อง เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดินเกิดการอิ่มตัวจากฝนที่ตกสะสมอาจจะทำให้เกิดดินสไลด์ น้ำป่าไหลหลากได้  นายกิติกุล  กล่าว 


image รูปภาพ
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar